.:: ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ ::.

 

 

 

 

  • การจูงใจ

การจูงใจนักจิตวิทยาได้ให้ความหมายไว้ดังนี้
โยธิน ศันสนยุทธ และคณะ (2533) กล่าวว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคลที่กระตุ้นให้บุคคลไปสู่การกระทำอย่าางมีเป้าหมาย เรียกว่า การจูงใจ
บารอน และ ชังค์ (Baron and Schunk) ให้ความหมายว่า การจูงใจเป็นกระบวนการที่กระตุ้นชี้แนะแนวทาง และกำหนดให้พฤติกรรมดำเนินไปสู่จุดหมายปลายทาง(Slavin, 1994)
การจูงใจเป็นคำกล่าวรวมถึง สภาวะที่อินทรีย์ถูกกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมเพื่อไปสู่ เป้าหมายที่เราต้องการ การจูใจอาจเกิดขึ้นในภาวะต่าง ๆ มากมาย เกิดจากความต้องการของมนุษย์ในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ หรือเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การจูงใจอาจเกิดสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นสิ่งเร้า หรืออาจเกิดจากความต้องการและแรงขับภายในตัวบุคคลได้ หรือเกิดจากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายในรวมกัน
ตัวอย่างการจูงใจเกิดจากความต้องการ หรือแรงขับภายในตัวบุคคล เช่น นาย ก. หิวข้าว เขาเดินไปยังโรงอาหารซื้อข้ามารับประทาน จะเห็นได้ว่า นายโก้ เกิดความหิว (แรงขับ หรือ drive) กระตุ้นเพราะร่างกายเกิดความต้องการ (Need) อาหาร ดังนั้น นายโก้ จึงต้องแสดงพฤติกรรม คือ เดินไปซื้อข้าวที่โรงอาหาร สิ่งที่เขามุ่งหมายในที่นี้ คือ ข้าว จึงเป็นเป้าหมายที่จะช่วยลดความหิวหรือแรงขับให้ลดลง หรือหมดไป เราอาจเขียนเป็นไดอะแกรมง่าย ๆ ดังนี้

สิ่งกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมไปยังจุดหมายปลายทางเราเรียก แรงจูงใจ(Motive)

จากตัวอย่างข้างบน ความหิวเป็นแรงจูงใจ ข้าวเป็นเป้าหมาย ดังนั้น เราอาจเขียนไดอะแกรมใหม่ของการเกิดการจูงใจได้ดังนี้
การจูงใจเกิดขึ้นจากแรงผลักดัน เช่น ความต้องการ เมื่อเกิดความต้องการก็ต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรนทำให้เกิดพฤติกรรมที่จะช่วยให้เราถึงจุดหมาย แล้วความต้องการก็จะลดลง เมื่อได้รับการตอบสนองต่อไปก็จะเกิดความต้องการอย่างอื่น ๆ ตามมาอีก วนเวียนเช่นนี้ตลอดไป
การจูงใจนั้นจะต้องประกอบด้วย
1. ภาวะที่อินทรีย์ถูกเร้า (Motivating States)
2. พฤติกรรมที่ถูกเร้าด้วยเหตุจูงใจ (Motivating Behavior)
3. ภาวะอินทรีย์เกิดความสมปรารถนา (Satisfaction) หรือทำให้สภาพการเร้าลดลงสู่สภาพปกติ
สรุปทั้งความต้องการ แรงขับ และแรงจูงใจ เมื่อปรากฏในตัวบุคคลก็จะเกิดองค์ประกอบพื้นฐานอย่างน้อย 2 ประการ คือ สภาวะของความไม่สมดุล อันเป็นองค์ประกอบภายในกับเป้าหมายภายนอก (goal) ซึ่งเมื่อประกอบเข้าด้วยกันจะทำให้เกิดภาวะการจูงใจ (Motivation) ขึ้น
ถ้าต้องการดูว่าใครมีการจูงใจอย่างไรนั้น ต้องดูที่พฤติกรรมเพราะพฤติกรรมย่อมสังเกตได้ เราทุกคนรู้จักจูงใจผู้อื่นและถูกผู้อื่นจูงใจมาแล้ว เช่น เมื่อท่านพูดว่า “ อาหารที่ฟิวเจอร์อร่อย เราไปรับประทานกันไหม ” ถ้าเพื่อนตกลงตามที่ท่านชวนแสดงว่าท่านจูงใจเขาสำเร็จแล้ว และเมื่อรับประทานเสร็จเพื่อนชวนว่า “ ภาพยนตร์เรื่องจดหมายรักดีนะเราไปดูกันไหม ” และถ้าท่านตกลงไปดูหนังกับเพื่อนก็แสดงว่าท่านถูกเพื่อนจูงใจสำเร็จแล้ว

การศึกษาเรื่องการจูงใจจะไม่สมบูรณ์ ถ้าเราไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของสิ่งจูงใจ สิ่งล่อใจ คำว่าสิ่งจูงใจ (Incentive) เป็นองค์ประกอบที่อยู่ภายนอก อาจเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ สิ่งจูงใจเป็นตัวกำหนดทิศทางของพฤติกรรม กล่าวคือ พฤติกรรมที่ได้รับการจูงใจอาจเป็นการกระทำเพื่อมุ่งเข้าหา หรือหนีออกห่างจากสิ่งจูงใจนั้นก็ได้ ดังนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่คนเราอยากได้ หรืออยากเข้าใกล้ เรียกว่า สิ่งจูงใจทางบวก (Positive Incentive) เช่น อาหาร ปริญญาบัตร คำสรรเสริญ เป็นต้น สิ่งที่คนเราไม่ต้องการหรืออยากหลีกเลี่ยง เรียกว่า สิ่งจูงใจทางลบ (Negative Incentive) ได้แก่ อาหารที่เราไม่ชอบ เสียงหนวกหู อากาศเสีย คำกล่าวหา การลงโทษ

ประเภทและลักษณะของแรงจูงใจ
แรงจูงใจตรงกับภาษาอังกฤษว่า Motive นักจิตวิทยาใช้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการจำแนกประเภทของแรงจูงใจ ซึ่งมีหลายระบบและหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งในที่นี้จะขอนำมากล่าวเฉพาะมาสโลว์ (Maslow)
ตามแนวคิดของมาสโลว์นี้ เขาเน้นว่า มนุษย์เรามีความต้องการเป็นไปตามลำดับ เมื่อได้รับการสนองตอบในขั้นที่ 1 คนเราจะต้องการขั้นที่ 2 และต่อ ๆ ไปตามลำดับ
มาสโลว์มีความเห็นว่า ความต้องการของมนุษย์แบ่งเป็น 5 ขั้น จากขั้นมูลฐานจนถึงขั้นสูงสุด ซึ่งเรียงได้ตามลำดับ ดังนี้
ความต้องการอันดับแรกของมนุษย์ คือ ความต้องการทางร่างกาย ได้แก่ ต้องการน้ำ อาหาร อากาศพักผ่อน การนอนหลับ (Physiological needs)
ความต้องการขั้นที่ 2 คือ ความต้องการทางด้านความปลอดภัย (Safety needs) คือ ความต้องการความปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง
ความต้องการขั้นที่ 3 คือ ความต้องการทางด้านสังคม (Social Needs) ได้แก่ ความต้องการความรัก (Love needs) เช่น ต้องการเพื่อน ต้องการมีคนรักใคร่ขอบพอ ไม่ต้องการอยู่โดดเดี่ยวเดียวดาย
ความต้องการขั้นที่ 4 คือ ความต้องการด้านศักดิ์ศรี มีหน้ามีตาในสังคม (Esteem needs) ต้องการเป็นหัวหน้า เป็นผู้นำกลุ่ม ต้องการมีชื่อเสียงโด่งดังในสังคม ต้องการได้รับการยกย่องจากบุคคลทั่วไป
ความต้องการขั้นที่ 5 คือ ความต้องการมีสัจจะแห่งตน (Self Actualization) เป็นความต้องการขั้นสูงสุดของมนุษย์เพื่อจะทราบว่าตัวเองมีความสามารถที่จะทำสิ่งใดได้บ้างในด้านศักยภาพ (Potential) ของมนุษย์ เกิดมาแล้วสามารถทำงานให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้อื่นมากน้อยเพียงใด
ความต้องการทั้ง 5 ขั้นนี้ เรียงตามลำดับเหมือนขั้นบันใด ความต้องการทางกายเป็นความต้องการขั้นต้นที่สุดที่เป็นพื้นฐานสำหรับความต้องการขั้นต่อไป การพัฒนาด้านจิตใจจะเป็นการพัฒนาระดับความต้องการ คือ เมื่อบุคคลสามารถสนองความต้องการทางกายแล้ว ก็พยายามหาทางสนองความต้องการด้านความปลอดภัยต่อไป เมื่อมีความมั่นคงปลอดภัยพอสมควรก็สนองความต้องการด้านความรักความเป็นเจ้าของ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคม ลำดับต่อไปก็เป็นการแสงหาชื่อเสียงเกียรติยศ และต้องการสัจจะแห่งตนในลำดับสูงที่สุด

ประเภทแรงจูงใจ
ประเภทของแรงจูงใจยังสามารถแบ่งออกอย่างกว้างๆ ได้อีก 3 ประเภท คือ
1. แรงจูงใจทางด้านร่างกาย (Physiological) เป็นแรงจูงใจที่ติดตัวมาแต่กำเนิด มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการดำรงชีวิต เช่น ความหิว ความกระหายน้ำ ความต้องการทางเพศ
2. แรงจูงใจทั่วไปที่ไม่ใช่การเรียนรู้ หรือแรงจูงใจทั่วไป (Unlearned or General Motives) เป็นแรงจูงใจที่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการเรียนรู้และไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เป็นความต้องการส่วนบุคคล เช่น ความต้องการเคลื่อนไหว และทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนความอยากรู้อยากเห็น ความกลัว ความต้องการความรักใคร่เอ็นดู
3. แรงจูงใจทางสังคม (Social Motives) เป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ ไม่ใช่ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เกิดขึ้นเพราะการที่บุคคลได้เกี่ยวข้อง กับสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่คนเป็นสัตว์สังคม ดังนั้นพฤติกรรมส่วนใหญ่จึงได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม ซึ่งได้แก่ สถาบันต่าง ๆ วัฒนธรรม ค่านิยม ความนึกคิด ความเชื่อถือ ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนา เป็นต้น แรงจูงใจทางสังคมได้แก่ ความต้องการให้สังคมยอมรับนั่นเอง
มีผลมาจากแรงขัย 8 อย่าง ได้แก่
1. ความหิว (Hunger drive)
เราหิวอาหารเพราะร่างกายขาดอาหาร เกิดการบีบตัว หรือหดตัวของกล้ามเนื้อในกระเพาะอาหาร แต่จากการทดลองตัดกระเพาะอาหารออก ร่างกายก็ยังแสดงอาการหิวอยู่ จากการทดลอง สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้เกิดการหิว คือ การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำตาลในกระแสโลหิต นอกจากนี้การหิวบางครั้งเราหิวเฉพาะอย่าง เช่น เด็กหิวไอศครีม ไม่หิวข้าว แมวหิวปลาไม่หิวมะเขือ เป็นต้น การหิวเฉพาะอย่างเกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ อีกประการหนึ่งในการหิวเฉพาะอย่างเกิดจากร่างกายขาดอาหารประเภทนั้นทำให้เราต้องการอาหารประเภทนั้น ๆ ความหิวนับเป็นแรงขับที่มีอิทธิพลมากต่อพฤติกรรม
ตลอดวัยเด็กและวัยแรกรุ่น ซึ่งร่างกายกำลังเจริญเติบโต จะเห็นว่าเมื่อเด็กหิวจะรู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่ายเกิดความเครียดโมโหง่าย ต่อจากนั้นแรงจูงใจทางสังคมจึงจะเริ่มข้ามามีบทบาท
2. ความกระหาย
นักสรีรวิทยาได้แสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถจะหาบรรดาสัตว์โลกใดที่มีแต่ความกระหายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วเราจะเห็นว่าความต้องการอาหารย่อมติดตามด้วยความต้องการน้ำ ทั้งนี้เพราะอาหารแข็งนั้นต้องเข้าไปในรูปของสารละลายและยิ่งกว่านี้ อาหารตามธรรมชาตินั้นส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำ ดังนั้นความกระหายของน้ำในทะเลทรายนั้นจะไม่สามารถเอาชนะความกระหายได้โดยเพียงแค่ดื่มน้ำเท่านั้น จะต้องมีอาหารกินด้วยจึงจะทำให้ความกระหายหมดไปได้
เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เกิดความกระหายนี้ เคยมีผู้เข้าใจว่าเป็นเพราะเมื่อเซลล์ในเยื่อลำคอมีปริมาณน้อยลง จึงทำให้คอแห้งและอยากดื่มน้ำ แต่ความจริงแล้วความกระหายนี้มีสาเหตุจากปริมาณน้ำของเซลล์ในร่างกายลดลง โดยเฉพาะที่ไฮโปธัลลามัส (Hypothalamus) จะมีนิวโรนอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีความไวต่อการสูญเสียน้ำของร่างกาย ก็จะส่งกระแสความรู้สึกไปยังสมอง ความกระหายก็จะเกิดขึ้น และภาวะสำคัญที่ทำให้คนต้องการน้ำ คือ ระดับเกลือในกระแสโลหิตด้วย
3. แรงขับทางเพศ (Sex drive)
แรงขับทางเพศจะปรากฏให้เห็นได้ชัดในระยะที่มนุษย์ย่างเข้าสู่วัยสุกทางเพศ หรือระยะ Puberty (คำ Puberty มาจากศัพท์ภาษาละตินว่า Pubertas มีความหมายว่า มีอายุเป็นผู้ใหญ่ แต่ในทางจิตวิทยานั้นได้ใช้ความหมายที่ว่าเป็นระยะที่เด็กมีพัฒนาการเพศเจริญสุดขีด) Feuds มีความเห็นว่า ความต้องการทางเพศเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่ทำให้เกิดพฤติกรรมผิดปกติต่าง ๆ ถ้าสังคมไม่เปิดโอกาสให้เด็กวัยรุ่นได้ระบายแรงขับด้านนี้ไปในทางที่ถูกที่ควร
4. ความอบอุ่นและหนาว (Warmthsand Cold)
ร่างกายคนเราต้องการอุณหภูมิพอเหมาะแก่ร่างกาย ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป เมื่อเกิดมีความร้อนจัดหรือหนาวจัดจะทำให้เกิดแรงจูงใจเสาะแสวงหาสิ่งที่มาทำให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นตามต้องการ
5. ความต้องการหลีกเลี่ยงจากความเจ็บปวด (Pain) เพื่อให้ร่างกายดำรงชีวิตอยู่ได้โดยปลอดภัย ถ้าคนเราเกิดความเจ็บปวดก็จะพยายามบำบัดรักษาหรือหาทางป้องกันเพื่อให้ร่างกายปราศจากโรค หรือการสู้รบก็จะหนีไปสู่ที่ซึ่งปลอดภัยกว่า
6. ความต้องการพักผ่อนนอนหลับ (Sleep drive) คนต้องการการหลับพักผ่อนเท่า ๆ กับความต้องการอาหาร ความง่วง ความเหนื่อย เป็นกำลังขับดันอย่างหนึ่งซึ่งจูงใจคนทำพฤติกรรมบางอย่างที่นำไปสู่การพักผ่อนนอนหลับ

7. ความต้องการอากาศ (ออกซิเจน) คนต้องการอากาศสำหรับหายใจ คนที่จมน้ำหรือกำลังอยู่ในที่สำลักวันไฟจะตะเกียกตะกายเพื่อหา (ออกซิเจน) ช่วยในการหายใจ ถ้าคนขาด (ออกซิเจน) ภายใน 3 – 5 นาที จะทำให้เสียชีวิตทันที
8. ความต้องการขับถ่าย (Plimination)
การขับถ่ายเอาของโสโครกออกจากร่างกายเป็นสิ่งจำเป็น มิฉะนั้นจะเกิดเป็นพิษภายในร่างกายและทำให้คนไม่สามารถดำรงชีวิตได้
ความต้องการทางกาย ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากแรงขับดังกล่าวข้างต้น นักจิตวิทยาส่วนมากถือว่าแรงขับเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการรักษาดุลยภาพของสภาวะภายในร่างกาย ที่เรียกว่า โฮมีโอสเตชีส (Homeostasis) เมื่อร่างกายอยู่ภาวะเสียสมดุล ความเครียดก็จะเกิดขึ้นและจะคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับการลดแรงขับเหล่านั้นให้ความเครียดลดน้อยลงหรือหายไป