.:: ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ ::.

 

 

 

 

  • บุคลิกภาพ

ความหมายของบุคลิกภาพ
บุคลิกภาพ  มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก  คือ  “Persona”  ซึ่งแปลว่า  หน้ากาก  เพราะการแสดงละครตามบทต่างๆ  ของชาวกรีกโบราณ  จะใช้หน้ากากสวมให้เหมาะสมกับตัวละคร  สำหรับความหมายของบุคลอกภาพ  มีผู้ให้ความหมายหลายท่าน  ทั้งนักการศึกษาไทยและต่างประเทศ  นักการศึกษาไทย  เช่น 
กมลรัตน์  หล้าสุวงษ์  ให้ความหมายว่า  บุคลิกภาพเป็นลักษณะท่าทางที่แสดงออกของแต่ละบุคคล  รวมทั้งการใช้ภาษาหรือคำพูด  เช่น  การเจรจาโต้ตอบ  การแสดงความคิดเห็น  การใช้อากัปกิริยาแทนคำพูด
ประดินันท์  อุปรมัย  กล่าวว่า  หมายถึง  ลักษณะโครงสร้างร่างกายและพฤติกรรมต่างๆของบุคคลที่ปรากฏให้เห็นได้  และลักษณะหรือจัดระบบภายในตัวบุคคล  ซึ่งมีอิทธิพลต่อลักษณะและพฤติกรรมที่ปรากฏนั้น
ลักขณา  สริวัฒน์  ได้ให้ความหมายไว้ว่า  หมายถึง  ลักษณะเฉพาะของเอกัตบุคคล  ซึ่งไม่เหมือนกัน  ไม่ว่าจะเป็นลักษณะภายนอก  เช่น  รูปร่างหน้าตา  ลักษณะท่าทาง  หรือลักษณะภายใน  เช่น  สติปัญญา  ความคิด  หรืออุปนิสัยใจคอ
สายสุรี  จุติกุล   ให้ความหมายเป็น  2 นัย  ความหมายแรก  คือ  ส่วนต่างๆของบุคคลที่รวมกันแล้วทำให้บุคคลนั้นแตกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ  ส่วนต่างๆ  เหล่านั้น  ได้แก่  อุปนิสัย (Character)  นิสัยใจคอ  (Temperament)  ความสนใจ  (Interest)  ทัศนคติ (Attitude) วิธีการปรับตัว (Adjustment)  และโครงสร้างทางร่างกาย (Physical  Constitution)  ซึ่งส่วนต่างๆเหล่านี้จัดเป็นลักษณะ (Characteristic)  ที่สำคัญของแต่ละบุคคล  และความหมายอีกประการหนึ่งของบุคลิกภาพ  คือ  ตัวเราทั้งตัวหรืออัตตะ (Self)  ที่แสดงพฤติกรรมต่างๆลักษณะโครงสร้างร่างกายและพฤติกรรมต่างๆ  ของบุคคลที่ปรากฏให้เห็นได้  และลักษณะหรือจัดระบบภายในตัวบุคคลซึ่งมีอิทธิพลต่อลักษณะและพฤติกรรมที่ปรากฏนั้น
กระทรวงศึกษาธิการ  ได้ให้ความหมาย  ไว้ว่า  หมายถึง  ลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละคนที่ทำให้เรามีความแตกต่างจากคนอื่น
สำหรับนักจิตวิทยาชาวต่างประเทศที่ให้ความหมายของบุคลิกภาพ  เช่น 
กิลด์ฟอร์ด  (Guilford)  ได้ให้คำจำกัดความของบุคลิกภาพไว้ว่า  บุคลิกภาพ  คือแบบแผนที่เป็นเอกลักษณะ (Unique)  ที่ประกอบกันขึ้นมาของบุคคล  ในความหมายนี้เขาได้เน้นถึงแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์  ที่มนุษย์ทุกคนมีและไม่เหมือนใคร  เด็กที่เกิดมาทุกคนแม้จะเป็นพี่น้องท้องเดียวกันก็ตาม  จะมีบุคลิกภาพที่ไม่ซ้ำแบบกัน  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิสัยใจคอ  ทัศนคติ  ความสนใจพฤติกรรม  กล่าวโดยสรุป  กิลด์ฟอร์ด  เน้นว่าบุคลิกภาพกำเนิดจากความแตกต่างระหว่างบุคคล
คะเทล  (Cattell)  ได้ให้ความหมายว่า  บุคลิกภาพ  คือ  สิ่งที่ช่วยให้สามารถทำทายได้ว่า  บุคคลควรจะทำอะไรในสถานการณ์ที่กำหนดให้  และบุคลิกภาพจะเกี่ยวข้องกบพฤติกรรมทุกชนิดทั้งพฤติกรรมภายนอกและพฤติกรรมภายใน
สกินเนอร์  (Skiner)  ให้ความหมายว่า  ผลรวมทั้งหมดของพฤติกรรมของบุคคลนั้น
ออล์พอร์ท  (Allport) ได้กล่าวถึงบุคลิกภาพว่า  บุคลิกภาพ  คือ  กระบวนการสร้างหรือการจัดส่วนประกอบของแต่ละคนทั้งภายในและภายนอก  (จิตในและร่างกาย)  และบุคลิกภาพนี้  จะทำหน้าที่เป็นเครื่องกำหนดตัดสินลักษณะพฤติกรรมและความนึกคิดของคนคนนั้น  จะเห็นในความหมายของออล์พอร์ทนั้น  เน้นความสัมพันธ์ร่วมระหว่างร่างกายและจิตใจอย่างมีระบบที่เกี่ยวข้องกัน  และไม่ขัดแย้งกัน  เพราะเหตุว่าต่างก็เป็นส่วนประกอบของกันและกัน  เมื่อผสมผสานเป็นบุคลิกภาพแล้ว  ระบบเหล่านั้นจะมีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ  ออล์พอร์ท  ได้ใช้คำว่า  Dynamic  Organization ซึ่งหมาความว่า  เป็นระบบการทำงานที่มีความสัมพันธ์กัน  คือในการศึกษาบุคลิกภาพนั้น  เขาเน้นทั้งด้านร่างกายและจิตใจ  เพราะเห็นถึงความสัมพันธ์ที่แยกจากกันไม่ออกทั้งสองระบบ  จิตใจจะมีอิทธิพลต่อความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย  และในทำนอง  การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายจะมีต่อความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจด้วยเช่นกัน  และเมื่อร่างกายและจิตใจต่างก็ไม่หยุดนิ่ง  ร่างกายมีการผันแปรตลอดไป  จิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  จะทำให้ระบบเหล่านี้มีการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ  ซึ่งผลก็คือ  บุคลิกภาพก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตามไปด้วย  เช่น  คนที่มีลักษณะเฉื่อยชาไม่ค่อยสนใจทำงานที่ได้รับมอบหมาย  เมื่อได้อยู่ร่วมทำงานกับคนที่ว่องไว  และรับผิดชอบในการทำงาน  ก็จะเกิดการปรับตัวตาม  เพราะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น  จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงไป  ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม  จนกลายเป็นคนทีความรับผิดชอบได้
ไอเซงค์  (Eysenck)  กล่าวว่า  บุคลิกภาพ  คือ  การกระทำทั้งหมดหรือพฤติกรรมทั้งหมดของคนและบุคลิกภาพถูกกำหนดขึ้นจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

จากความหมายหรือคำจำกัดความจากนักการศึกษาหรือนักจิตวิทยาหลายท่านที่ได้กล่าวมานั้น  แม้ว่าจะเน้นไปคนละแง่มุมก็ตาม  แต่ทั้งหมดก็มีลักษณะร่วมกัน  คือ พยายามที่จะศึกษาอธิบายและทำนายพฤติกรรมมนุษย์ในการกระทำดังกล่าว  ซึ่งจะเห็นว่า  นักจิตวิทยาได้ค้นคว้า  วิจัยและสร้างทฤษฎี  หาวิธีที่จะทำให้เข้าใจถึงพฤติกรรมของบุคคลที่เป็นเอกลักษณ์ให้มากที่สุด  และพอจะสรุปแล้วบุคลิกภาพ  คือ  คุณสมบัติส่วนรวมทั้งหมดของบุคคลทั้งที่มองเห็นจากภายนอกได้แก่  รูปร่างหน้าตา  กิริยาท่าทางต่างๆ  และที่มองไม่เห็น  เช่น  ความรู้สึกนึกคิด  ทัศนคติ  

พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
            นักพฤติกรรมนิยมเน้นบทบาทของการเรียนรู้ในการพัฒนาบุคลิกภาพ  ซึ่งมีปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาบุคลิกภาพดังต่อไปนี้
1. ศักยภาพที่มีมาแต่กำเนิด  (Inborn  Potentialities)  นับว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด  ซึ่งอาจจะเป็นผลของพันธุกรรมหรืออิทธิพลต่างๆ  ที่มีต่อทารกก่อนคลอด  และสิ่งเหล่านี้มีความแตกต่างเบื้องต้นของมนุษย์ที่จะเป็นเงื่อนไขกำหนดทิศทาง  และขอบเขตในการพัฒนาบุคลิกภาพในระดับหนึ่ง  เช่น  รูปทรง  ลักษณะหน้าตา  ระบบประสาท  ความสมบูรณ์หรือพิการของร่างกาย  ลักษณะอามรณ์  เป็นต้น  ส่วนจะพัฒนาไปอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ  อีกหลายอย่าง  ทารกบางคนเกิดมาแข็งแรง  มีระบบประสาทที่ว่องไว  ในขณะที่ทารกบางคนอ่อนแอขี้โรค  มีระบบประสาทเชื่องช้า  จะเห็นว่าทารกแรกอาจจะพัฒนาบุคลิกภาพขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพสมบูรณ์  อาจเป็นนักกีฬา  และเขาจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง  ส่วนคนหลังอาจจะพัฒนาไปในอีกทางหนึ่ง  เช่น  อาจเป็นคนที่ต้องพึ่งคนอื่นตลอดเวลา  หรืออาจหันไปเอาดีทางเขียนหนังสือ  เล่นดนตรี  แต่หากทารกที่เกิดมาปัญญาอ่อนย่อมไม่สามารถพัฒนาบุคลิกภาพแบบปกติเหมือนคนอื่นๆ  ทั่วไปได้  การที่เด็กเป็นใบ้พูดไม่ได้ก็ย่อมกระทบกระเทือนต่อการพัฒนาบุคลิกภาพได้เหมือนกัน  แต่ในทางกลับกัน  หากเด็กที่พิการมีความสามารถเท่าหรือมากกว่าเด็กปกติก็ย่อมมีบุคลิกภาพที่ดีได้  เช่น  เด็กที่ไม่มีแขนไม่มีขา  แต่สามารถใช้เท้าทำงาน  หรือเขียนหนังสือแทนมือได้  สามารถช่วยตัวเองได้  ก็จะได้รับการยกย่องชมเชยจากสังคมว่าเป็นคนที่มีความสามารถพิเศษ  ซึ่งในเด็กธรรมไม่สามารถทำได้  มีตัวอย่างบุคลิกภาพมากมายหลายคน  ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความสามารถทั้งคนไทยและต่างประเทศในยุคปัจจุบัน
2. สิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้  ในช่วงพัฒนาการของทารก  ทารกมีประสบการณ์ต่างๆกับสังคม  และได้รับสิ่งเร้าที่มากระทบมากมาย  ทารกก็ต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้  โดยจะต้องรู้ว่า  เขาต้องมีบทบาทอะไรบ้างสำหรับฐานะต่างๆ  ของเขาในสังคม  และเขาต้องเรียนรู้ที่จะแสดงบทบาทของเขาได้อย่างเหมาะสม  การเรียนรู้จากสิ่งเร้าและประสบการณ์ต่างๆ  ในสิ่งแวดล้อมย่อมเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมบุคลิกภาพของบุคคลว่าเขาจะเป็นคนอย่างไร  เขาแสดงพฤติกรรมและมีวิธีปรับตัวอย่างไร  เด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี  อยู่ในสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด  ประสบกับความอดอยาก  ได้ยินแต่เสียงด่าทอทะเลาะเบาะแว้ง  พบเห็นแต่ความสกปรกรกรุงรังอยู่ตลอกเวลา  ก็ย่อมจะพัฒนาบุคลิกภาพไปในทางที่แตกต่างกับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับความรักความห่วงใยจากครอบครัวอยู่ตลอดเวลา  ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ย่อมมีบุคลิกภาพที่ดีกว่า  และประสบความสำเร็จในชีวิตที่ดี  มีประสบการณ์ที่ดีจนบางคนนำไปยึดเป็นแบบอย่างชีวิตได้  ประสบการณ์แบ่งเป็น  2 ประเภท  ได้แก่
2.1 ประสบการณ์ร่วมทางวัฒนธรรม  หมายถึง  ประสบการณ์ที่บุคคลได้รับเหมือนกันหรือในทำนองเดียวกัน  อันเป็นผลจากการที่อยู่ในสังคมเดียวกัน  ได้แก่  ขนบธรรมเนียมประเพณี  ค่านิยม  ความเชื่อ  ทัศนคติ  คำสั่งสอนต่างๆ  ของสังคม  ตลอดเวลาที่เราเจริญเติบโต  เราจะศึกษาและประพฤติตนตามวิถีทางของสังคมที่เห็นว่าถูกต้อง  หรือ  คาดหวังกับเราโดยที่เราไม่ต้องหาเหตุผล  หรือสงสัยในความถูกต้อง  และไม่นึกว่าตนในวัฒนธรรมอื่นอาจจะไม่เห็นด้วย  เช่น  ประเพณีการไหว้  ความเกรงใจ  เป็นต้น  บุคคลที่เจริญเติบโตในสังคมต่างกันก็ย่อมมรแผนโครงสร้างหรือแง่มุมของบุคลิกภาพที่แตกต่างกันออกไป  เพราะค่านิยมและวิถีการดำเนินชีวิตต่างกัน  อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่า  คนที่อยู่ในวัฒนธรรมเดียวกันจะต้องมีบุคลิกภาพที่เหมือนกัน  เพราะการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมโดยตัวแทนของสังคมต่างๆ  เช่น  พ่อแม่ครู  อาจารย์  เพื่อน  อาจไม่เป็นรูปแบบเดียวกันหรือมีความสามารถในการถ่ายทอดเหมือนกันโดยแท้จริง  และในแต่ละสังคมใหญ่ก็จะมีสังคมย่อยๆ  อีกมากมาย  เช่น  สังคมของผู้ร่วมอาชีพเดียวกัน  สังคมชาวพุทธ  สังคมของผู้หญิง  เป็นต้น  สังคมย่อยเหล่านี้  ก็จะมีวัฒนธรรมของตนเองมาหล่อหลอมบุคคลที่เป็นสมาชิกด้วย
2.2 การประสบการณ์เฉพาะ  เป็นประสบการณ์ที่แต่ละบุคคลได้รับในช่วงของเขา  โดยที่คนอื่นอาจไม่มีและย่อมเกี่ยวข้องพัวพันอยู่กับบุคคลที่เราสัมพันธ์ด้วยอย่างใกล้ชิด  เด็กที่มีพ่อแม่เข้มงวดมากใช้วิธีการปกครองแบบเผด็จการ  ซึ่งมักจะใช้วิธีการลงโทษอย่างรุนแรง  เช่น  เฆี่ยนตี  ไม่ฟังเหตุผล  ย่อมมีประสบการณ์ส่วนตัวที่แตกต่างจากเด็กที่พ่อแม่ใจดี  มีเหตุผลในการอนุญาตในการทำกิจกรรมต่างๆ  ที่เหมาะสมตามความสามารถ  ให้รางวัลเมื่อถูก  และทำโทษเมื่อผิดเด็กคนแรกอาจจะเกิดการมองโลกในแง่ร้าย  ไม่ไว้ใจในสังคม  จนเกิดพฤติกรรมที่ต่อต้านสังคม  ส่วนเด็กคนหลังอาจจะเติบโตขึ้นมาอย่างมีความเชื่อมั่นในตนเอง  มองโลกในแง่ดี  รู้อะไรควรไม่ควร  สำหรับประสบการณ์เฉพาะจะครอบคลุมไปถึงประสบการณ์ร้างแรง  เช่น  ความผิดหวังที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้  การที่คนรักสิ้นชีวิต  หรือความเจ็บป่วยอย่างหนัก  ความคับแค้นใจอันเนื่องมาจากอยุติธรรมของสังคม  สิ่งเหล่านี้ย่อมมีอิทธิพลต่อพัฒนาการของบุคลิกภาพทั้งสิ้น